กลูตาไธโอน ประโยชน์ หรือ โทษ

เรื่องโดย : ผศ.พญ สุวิรากร โอภาสวงศ์


 

 

กลูตาไธโอน ประโยชน์ หรือ โทษ


กลูตาไธโอน (Glutathione) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย สามารถพบได้ทุกเซลล์ โดยจะพบในไมโตคอนเดรีย นิวเคลียส และเพอรอกซีโซม ซึ่งกลูต้าไธโอนจะถูกสร้างขึ้นภายในเซลล์และถูกนำส่งออกมานอกเซลล์โดยอาศัยตัวพามาเก็บสำรองไว้ที่ตับ เซลล์ประเภทอื่นๆที่พบสารนี้มาก เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ปอด ไต ตับอ่อน เลนส์ จะพบน้อยในพลาสมา

กลูตาไธโอนเป็นสารประเภท Tripeptide ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนสามชนิด ได้แก่ Cysteine , Glycine , Glutamic acid

 

โดยหน้าที่หลักของสารตัวนี้มีสามประการคือ

1. Detoxification กลูต้าไธโอนช่วยสร้างเอ็นไซม์ชนิดต่างในร่างกายโดยเฉพาะ Glutathione-S-transferase ที่ช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย โดยไปเปลี่ยนสารพิษชนิดที่ไม่ละลายน้ำ (ละลายในน้ำมัน) เช่น โลหะหนัก สารระเหย ยาฆ่าแมลง แม้แต่ยาบางชนิด ให้เป็นสารละลายน้ำได้ดีขึ้นและง่ายต่อการกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันตับถูกทำลายจากแอลกอฮอล์ สารพิษจากบุหรี่ ยาพาราเซตตามอนเกิดขนาด

2. Antioxidant กลูต้าไธโอน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านปฏิกริยาออกซิเดชั่น ที่มีความสำคัญตัวหนึ่งในร่างกาย และหากขาดไป วิตามินซี และวิตามินอี อาจทำงานได้ไม่เต็มที่

3. Immune Enhancer ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์หลายชนิด เพื่อให้ร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอม รวมถึงเชื้อแบคทีเรียและไวรัส นอกจากนี้กลูตาไธโอน ยังช่วยสร้างและซ่อมแซม DNA สร้างโปรตีน prostaglandin

 

แหล่งที่พบกลูต้าไธโอน


พบสารชนิดนี้ได้ในพืชผักชนิด ต่างๆ ผลไม้ทั่วไปและเนื้อสัตว์ แต่พบมากในหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) อโวคาโด และ วอลนัท ร่างกายเราก็สามารถสร้างกลูตาไธโอนได้และมีสารหลายชนิดที่ช่วยเพิ่มการสร้างกลูต้าไธโอน ได้แก่ Alpha lipo acid , Glutamine , Methionine , Whey Protein , Vitamin B6 , Vitamin B2 , Vitamin C และ Selenium

 

 

ภาวะขาดกลูต้าไธโอน

โดยปกติแล้วร่างกายเราจะไม่ขาดกลูต้าไธโอน นอกจากเป็นโรคบางชนิดที่ต้องการกลูต้าไธโอนมากขึ้น หรือโรคที่ต้านการสร้างกลูตาไธโอน โรคหรืออาการบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการขาดกลูตาไธโอน หรือต้องการมากขึ้น ได้แก่ โรคตับ เบาหวาน ความดัน ต้อหิน มะเร็ง เอดส์ ในผู้ที่สูบบุหรี่จัด   พบว่ามีระดับกลูตาไธโอนในเลือดต่ำ เนื่องจากมีการใช้กลูตาไธโอนมากขึ้น

 

ข้อบ่งใช้

ในบางประเทศให้ขึ้นทะเบียนกลูตาไธโอนเป็นยา และบางประเทศเป็นอาหารเสริม แต่ในประเทศไทยยังไม่ผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา

มีรายงานการใช้สารกลูตาไธโอน ในหลายกรณี เช่น โรคทางเดินระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน โดยใช้ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ใช้รักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก , พิษจากยาพาราเซตตามอนเกินขนาด , ทำลายพิษในตับ , ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานในคนไข้โรคเอดส์และมะเร็ง ใช้ต้านความชรา แต่ข้อมูลที่ใช้รักษาฝ้าและผิวพรรณให้เปล่งปลั่งเหมือนแสงออร่านั้นยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ชนิดและขนาดรับประทาน


ปัจจุบัน กลูตาไธโอนมีวางจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น ชนิดเม็ด หรือ แคปซูล ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดและเข้ากล้ามเนื้อ ผู้ป่วยโรคชนิดที่ตรวจพบว่า มีการขาดสารนี้ ควรใช้ตามแพทย์แนะนำ ในแง่ของการป้องกันหรือเพื่อต้านปฏิกริยาออกซิเดชั่น ขนาดที่รับประทาน 500-1,000 มิลลิกรัม ต่อวัน

 

ผลข้างเคียง

ถึงทุกวันนี้ยังไม่พบผลข้างเคียงหรือปฏิกริยาของยากลูตาไธโอนชนิดรับประทาน ในขนาดสูงยังไม่มีรายงานว่าจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในทุกๆส่วนของร่างกาย แต่ผลข้างเคียงที่น่ากลัวคือประเภทแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ มีโอกาสที่จะแพ้ได้ อาจจะไม่ได้แพ้สารกลูตาไธโอน แต่แพ้สารฆ่าเชื้อ สารกันเสีย หรือสารปนเปื้อน โดยเฉพาะยาที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิต ดังนั้นการฉีดเข้าหลอดเลือดต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย

 

Visitors: 148,307